ข่าวใหม่วันนี้

แถบข่าววันนี้ (ติดตามสถานการณ์จาก Facebook: Somporn Chuai-Aree)

ปิดแฟ้ม-ถอดบทเรียน "พายุวาชิ" และเฝ้าระวังฝน ในวันที่ 21-24 ธันวาคม 2554

รูปภาพของ csomporn

เรียน ทุกท่านและผู้เฝ้าระวังภัยจากพายุวาชิ

      ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2554 ก็ได้เกิดลูกหนูตัวน้อยหรือหย่อมความกดอากาศต่ำในบริเวณทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ ลูกหนูก็เจริญเติบโตและพัฒนาตัวเองให้ลอยตัวสูงขึ้นในแนวดิ่งและได้พัฒนาตัวเองเป็นพายุดีเปรสชั่นที่ความเร็วลมรอบศูนย์กลาง 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (หากจินตนาการไม่ออกให้นึกถึงเราขับรถรอบวงเวียนและเร่งเครื่องให้ได้ความเร็ว 55 กม.ต่อ ชม. เพียงแต่วงเวียนของพายุหรือหนูจะใหญ่หน่อย เกิน 10 กม.) หนูก็ได้เจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นพายุโซนร้อน (ความเร็วรอบศูนย์กลาง 65 กม.ต่อ ชม.) ซึ่งได้รับฉายาในภาษาญี่ปุ่นว่า "WASHI" แปลว่า ชื่อหมู่ดาว นกอินทรี และกินไอน้ำในมหาสมุทรด้วยความร่าเริง และพัฒนาตัวเองสูงสุดวิ่งรอบวงเวียนได้ความเร็วจนถึง 75 กม.ต่อ ชม. หนูสะสมพลังงานเต็มที่แล้วมุ่งหน้าสู่ทะเลจีนใต้ ซึ่งต้องผ่านพื้นที่ประเทศฟิลิปปินส์หลายเมือง ทำให้พี่น้องในประเทศฟิลิปปินส์เสียชีวิตอย่างน้อย 957 คน และยังมีที่สูญหายอีกนับร้อยคน ในวันที่ 17 ธันวาคม 2554

     จากนั้นเมื่อส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายให้กับเมืองต่างๆ ทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์แล้วก็มุ่งหน้าไปยังทะเลจีนใต้ ผ่านเกาะ Palawan และเกิดการสะดุดจากแรงจากแรงเสียดทานที่วิ่งผ่านเกาะ ทำหนูหรือพายุวาชิแตกร่างออกเป็น 2 ร่าง เกิดบทเรียนให้ผู้ติดตามทางเดินของหนูวาชิได้ประสบการณ์ไปคิดวิจัยต่อไป ตอนแรกคิดว่าเมื่อเกิดหนูสองร่างขึ้น ร่างแรกจะไปทางซ้าย ร่างที่สองไปทางขวา  อาจจะขึ้นไปหาฟิลิปปินส์ตอนบน แต่ด้วยแรงต้านของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีลมแรงทำให้หนูร่างทางขวามือต้องถอยมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้มารวมกันกับหนูร่างซ้ายมือกลายเป็นหนูตัวเดิม มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็ว 65 กม.ต่อ ชม และหนูต้องเจอกับแมวตัวใหญ่ (หย่อมความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็น หรือลมเย็นจากประเทศจีนพัดมาปกคลุมประเทศไทยและเวียดนาม หรือพระเอกของเรา) ที่มาล้อมและโอบกอดหนูตัวนี้ ที่สร้างความเสียหายตามเส้นทางที่ผ่านมา ทำให้หนูวาชิโดนต้านจากแนวกั้นของขาแมวทำให้หนูมุ่งหน้าเข้าสู่เวียดนามไม่ได้ จึงต้องเบนทิศไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ จะมุ่งสู่ทิศทางใด ขึ้นอยู่กับขาแมวเป็นหลัก ซึ่งขาแมว(เส้นความกดอากาศสูง) ก็เปลี่ยนไปมาเสมือนว่าต้องการจะให้หนูวาชิสงบลง แล้วก็มีการคาดการณ์จากหลายแหล่งข่าวว่าจะมุ่งหน้าลงสู่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งความเป็นไปได้ขึ้นกับขาแมวเป็นหลัก เมื่อขาแมวอยู่ห่างหนูวาซิ เข้าทำนอง แมวไม่อยู่หนูร่าเริง แต่ก็ทำให้หนูวาชิลดกำลังลง เจอความเหน็บหนาวเมื่อเจอแมว (มวลอากาศเย็นจากทางเหนือ) เหลือความเร็ว 55 กม.ต่อ ชม. ลดศักยภาพลงเป็นพายุดีเปรสชั่น (ความเร็วรอบศูนย์กลางไม่เกิน 63 กม.ต่อ ชม.) ประกอบกับเป็นช่วงเวลาเย็นของวันที่ 19 ธันวาคม 2554 จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่เฝ้าระวังพายุมาอย่างต่อเนื่องแล้วลองจำลองเพื่อดูทิศทางของหนูวาชิ พบว่าเมื่อเป็นช่วงเวลากลางคืนหนูวาชิจะมุ่งหน้าเข้าหาเวียดนามทางตอนใต้ทุกครั้ง และคืนนี้ก็เป็นเช่นนี้ เราก็พบกว่าหนูอยู่ในอ้อมแขนของแมวทำให้หนูไม่สามารถเคลื่อนต่อไปได้ และในที่สุดหนูก็พยายามดิ้นรนแต่สู้ความหนาวเหน็บจากแมวไม่ได้ ท้ายที่สุดหนูก็ยอมสลายตัวกลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ หรือสัญลักษณ์ ตัว L หรือ หย่อมโลว์ (Low) และก็เฝ้าระวังกันต่อว่าหนูจะฟื้นคืนชีพกันหรือไม่จนถึงตีสี่ (คืน 19 ธ.ค. 2554) สุดท้ายก็ขอหลับมาฟังผลตอนเช้า พบกว่าหนูได้จากลาไปแล้ว ขาแมวก็เริ่มถอยขึ้นไปเล็กน้อย ทำให้วันนี้ฝนไม่หนัก

       สถานการณ์เปลี่ยน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า หนูตัวอื่นจะไม่จุติเกิดขึ้นมาอีก เพราะผลต่อเนื่องจากหนูวาชิจะส่งผลต่อเป็นฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ของไทยและประเทศมาเลเซีย ซึ่งต้องเฝ้าระวังกันต่อไปว่าฝนจะตกหนักในบางพื้นที่ตั้งแต่ สุราษฎร์ธานีลงมาจนถึงนราธิวาส และประเทศมาเลเซีย คลื่นลมแรง คลื่นสูง 2-3 เมตร การกัดเซาะชายฝั่งยังทำงานอย่างต่อเนื่อง ระวังดินโคลนถล่มเมื่อฝนตกหนักในบางพื้นที่ ศึกษาพื้นที่เสี่ยงภัยดินโคลนถล่มในภาคใต้ได้จาก http://www.pbwatch.net/WeatherReport.html กดเลือกข้อ 2 พื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มภาคใต้ เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง 21-23 ธันวาคม 2554

 

บทเรียนที่ได้จากการติดตามหนูวาชิ

  1. การให้ข้อมูลกับประชาชนให้รับรู้ก่อนล่วงหน้านั้นสำคัญมาก ๆ อย่างน้อยให้คนได้รับรู้ว่า จะมีอะไรมาบ้าง จะต้องดำเนินการและปรับชีวิตในช่วงนั้นอย่างไร ส่งผลให้เกิดการทบทวนและเตรียมความพร้อมถ้าเกิดภัยขึ้นมาจริง เป็นการเตือนสติให้กับตนเอง และรับรู้ว่าชีวิตสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด แต่ไม่ใช่การเห็นแก่ตัว
  2. ทำให้ผมเห็นถึงการตื่นตัวของประชาชนและพี่น้องในเครือข่ายทางสังคมออนไลน์ที่เฝ้าระวังกันอย่างต่อเนื่องเพื่อกระจายข่าวเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยงของตนเอง เทียบกับจากที่ผมเคยนั่งดูภาพดาวเทียมอยู่คนเดียวตอนยังอยู่เยอรมัน ไม่รู้จะแลกเปลี่ยนกับใคร ซึ่งเทคโนโลยีช่วยได้มากในการติดต่อสื่อสารเฝ้าระวังภัย และเห็นพฤติกรรมของพายุ(หนู) ความกดอากาศ(แมว) การหมุนของกระแสลมในแนวดิ่ง ลมในชั้นต่าง ๆ สัมพันกันอย่างไร เห็นธรรมชาติเห็นคณิตศาสตร์ เห็นสมการเห็นธรรมชาติ
  3. เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากคนที่ไม่เคยเจอ ไม่เคยพูดคุย เกิดมิตรภาพขึ้นได้ มันเป็นการยกระดับจิตใจอย่างหนึ่ง
  4. หนูหรือพายุสามารถจะสลายตัวได้เมื่อเจอความกดอากาศสูงหรือความเหน็บหนาวจัด เพราะพายุลอยตัว ความหนาวจมตัว มาเจอกันจะโดนลมหนาวดูดพลังจากตัวมันได้จนหมดแรงและอ่อนเพลีย
  5. จากการทำนายทิศทางของพายุหลายสำนัก ทำให้พบว่าหากพายุวิ่งมุดลงไปหาเส้นศูนย์สูตรจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก แต่สำหรับวาชิก็ไม่เกิดอย่างนั้นเพราะสลายตัวก่อน
  6. การที่พายุสลายตัวในทะเลท่ามกลางแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์มีโอกาสจะเกิดได้น้อย แต่อยู่ที่พระเอกคือความกดอากาศสูงจริงๆ ปกติพายุหากวิ่งขึ้นฝั่งจะเจอความแห้งแล้งพายุก็จะฝ่อในที่สุดและสลายเพราะไม่มีอาหารคือไอน้ำให้ยังชีพต่อไป
  7. ทำให้ได้ศึกษาลองวิเคราะห์เส้นทางที่เป็นไปได้ว่าเส้นทางใดบ้างที่มีแนวโน้นจะพายุอาจจะเคลื่อนที่ไป เป็นการเตรียมความพร้อมของแต่ละพื้นที่ได้ ไม่ใช่เป็นการทำให้คนตกใจแต่เป็นการฝึกสติคิดในการจัดการตัวเองและคนรอบข้าง
  8. ทำให้เกิดมิติใหม่ในการพูดคุยกันหรือการประชุมรูปแบบใหม่ มุมมองเพื่อดูและวิเคราะห์ภูเขาปัญหาได้ชัดขึ้น
  9. และมีอีกหลายๆ อย่างมากมายจากวาชิในครั้งนี้ เป็นการสั่งสมประสบการณ์ต่อไป เป็นฐานของการวิจัยต่อยอดจากการได้ลงมือทำจริง
  10. ต่อไปเราจะพัฒนาเครื่องมือได้อย่างไรที่จะบอกว่า พรุ่งนี้ควรกรีดยางหรือไม่ ควรจะออกทะเลหาปลาหรือไม่ ออกไปได้กี่วัน ควรจะจับกุ้งหรือไม่อย่างไร จากข้อมูลสภาพดินฟ้าอากาศ ซึ่งจะเกี่ยวโยงตั้งแต่คนขายกล้วยทอดไปจนถึงตลาดหุ้น หรือเศรษฐกิจ "สู่การวิจัยไทยใช้ได้จริง"
  11. ประเทศไทยควรจะพัฒนาให้มีหลักสูตรทางด้านอุตุนิยมวิทยาในระดับปริญญา ตรี โท เอก โดยสร้างคนที่มีความรู้ความสามารถให้มากขึ้น แทนที่จะร่ำเรียนกันในด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไปกันตามแฟชั่นหรือตามค่านิยมแต่ละยุคสมัย ตลอดจนการสร้างครูให้มีความพร้อมเพื่อจะสร้างบทเรียนในการนำไปใช้จริงจากทฤษฎีและบทเรียนนอกห้องเรียนเชื่อมโยงกันโดยไม่มีกำแพงห้องกั้น
  12. ประสบการณ์ในอดีตจะส่งผลต่อการอพยพหลบภัย แม้จะมีเทคโนโลยีขั้นสูงแค่ไหน หากยังมีช่องว่างระหว่างกลุ่มคนมาก ก็จะส่งผลถึงความเสียหายได้มากเช่นกัน เช่น พายุลูกวาชิลูกนี้ พายุทุเรียน พายุนากีส พายุแคทรินา และลูกอื่นๆ การตระหนักอย่างมีสติจึงสำคัญมาก
สุดท้ายนี้ขอให้ทุกดวงวิญญาณของพี่น้องประเทศฟิลิปปินส์จงไปสู่สุคติ และจะเอาบทเรียนเหล่านี้มาเตือนสติในการร่วมกันเฝ้าระวังต่อไป ชีวิตคนเราตายกันได้ง่ายมาก เพียงแค่หายใจไม่เข้าหรือมีลมหายใจออกเป็นลมหายใจสุดท้าย หรือหายใจออกแล้ต่อเนื่องด้วยลมหายใจเข้าได้อย่างไร เราจะหายใจเข้าอย่างมีสติกันอย่างไร นั่นคือคำถามที่แต่ละคนต้องหาคำตอบกันเอง หรือจะหายใจไม่เข้าโดยไม่หลับไหลได้อย่างไร ภัยพิบัติที่น่ากลัวกว่าภัยจากธรรมชาติคือ "ภัยพิบัติทางจิตวิญญาณ" จึงฝากไว้ร่วมคิดกันต่อไปครับ
 
ด้วยมิตรภาพ

 หมายเหตุ

    อ่านบทความหนูกับแมวจากข้อมูลด้านล่างนี้ครับ หรืออ่านได้จาก http://www.pbwatch.net/node/57

ภาษาบ้าน ๆ เกี่ยวกับพายุและความกดอากาศสูง

ความสัมพันธ์ระหว่างความกดอากาศสูงกับพายุ ผมจะขอเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้น โดยเปรียบเทียบกับแมวจับหนู ถ้าท่านเคยเห็นแมวจับหนู แมวจะวิ่งๆ ไล่บี้หนูจนหนูอ่อนล้า แมวก็อาจจะหมอบนอนดูหนูและพฤติกรรมหนู ว่าจะหนูจะเคลื่อนที่ไปอย่างไร พอหนูเคลื่อนที่ไป แมวก็อาจจะวิ่งไปตะครุบแล้วตบๆ หนูไม่ให้หนูไปในทางที่จะไปได้ จนกว่าหนูจะตาย ถ้าแมวถอยหนูก็ร่าเริง ถ้าแมวมาไล่บี้หนูก็โดนดันต้องต่อสู้กัน ในที่นี้ หนูก็เปรียบเสมือนพายุ ความกดอากาศสูงก็เสมือนแมว แต่ดูไปแล้วน่าสงสารหนู แต่ในกรณีพายุเรามองว่าพายุทำร้ายคนเรา ดังนั้นพระเอกในบริบทของพายุและการสลายตัวก็คือความกดอากาศสูงนั่นเอง 

จากภาพในวีดีโอด้านบน เส้นทางทั้ง 7 เส้นทางยังมีความเป็นไปได้ทั้งหมด เพราะพายุยังมาไม่ถึงและสถานการณ์ความกดอากาศสูงที่แท้จริง เราก็ไม่ทราบว่าจะถอยหรือดันลงมาขนาดไหน ก็อยู่ที่ว่าแมวหรือพระเอกจะลงมาดันไม่ให้ หรือให้พายุไปทางไหนกันแน่ จึงต้องติดตามต่อไป เช่น หากเราบอกว่าทิศทางที่ 7 มีแนวโน้มสูงที่จะมาแต่หากสถานการณ์ของความกดอากาศเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างก็เปลี่ยน หนูก็จะวิ่งไปเส้นทางอื่นได้ หากแมวถอยหนูก็ร่าเริงต่อไป เพราะหนูหรือพายุร่าเริ่งในทะเลสามารถจะมีอาหารคือไอน้ำให้กินอยู่ ดึงไอน้ำมาทำให้ตัวเองลอยได้ต่อไป เพื่อจะนำน้ำเหล่านี้ไปบริจาคให้กับพื้นที่ทางผ่านจนกว่าจะไปขึ้นฝั่งที่ไม่มีอาหารหล่อเลี้ยง เจอภาคพื้นทวีปหรือเจอความแห้งแล้งนั่นเอง พายุจึงจะกลัวความกดอากาศสูง กลัวภาคพื้นทวีป หรือกลัวความแห้งแล้งในที่ที่ไม่มีไอน้ำหล่อเลี้ยงนั่นเอง อย่างทำนองที่หนูกลัวแมวนั่นเอง 

การเตรียมความพร้อม หรือการเฝ้าระวังจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญสำหรับมนุษย์เรา พร้อมแต่ไม่เกิดภัยถือว่าเป็นการฝึกซ้อม แต่ไม่เตรียมพร้อมแล้วภัยมา นั่นคือหายนะ (หรือจะอ่านว่า หาย นะ ก็คงไม่ผิด เพราะสิ่งที่เรารักเราหวงจะจากเราไป) คงมีใครมานั่งด่าใครหากพายุจะมาหรือไม่มา เพราะสิ่งเหล่านี้คือการเปลี่ยนแปลง ประกอบกับการทำนายสภาพอากาศในพื้นที่เขตร้อนไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะอากาศแปรปรวนสูง เวลานี้จึงไม่ใช่เวลาแห่งการฟันธง ว่าจะต้องตัดสินใจว่าจะขึ้นทางไหนครับ 

มาช่วยกันเฝ้าระวังด้วยกัน อย่างมีสติครับ แล้วเราเตรียมพร้อมกันถึงไหนแล้วครับ? (ต้องถามตัวเอง ไม่ใช่ถามคนอื่น) 

ความคิดเห็น

ตกลงวาเจาวาชไดจบชีวิตลงไปแลวแตกยงไมรวาจะมีพายุลกใหมเกิดขนอีกหรอปลาว

By ิฮาซัน เจะแว

ขอบคุณอาจารย์มากครับ

By ทศพล พลรัตน์

เตรียมการไว้แต่ไม่เจอ ดีกว่าเจอโดยไม่เตรียมการ ขอบคุณวันนี้ที่มีอาจารย์

ผู้มีจิตวิญญาณแห่งมิตรภาพ ขอบคุณจริงๆ

By fasai

ที่บ้านเรา (จะนะ) ฝนก็เลยตกตลอด พอเราบ่นๆ ไป แม่ก็บอกว่า นี่นะฤดูของเค้า ซึ่งมันก็จริงนิ 

ซึ่งเราก็คิดต่อจากที่เคยคิดและทำไปแล้วบางส่วน คือ ฝนตกต่อเนื่อง น้ำมีทางออกแค่ทางเดียว ซึ่งช่องก็เล็กมากแล้ว

น้ำก็จะกลับมาตรงที่นาแถวบ้านเรานะซิ ว่าแล้วมีไรให้ทำต่ออีกแล้ว แต่ยังไงข้อมูลนี้ก็ใช้ได้ดีค่ะ อ่านแล้วเข้าใจ

By raya

ที่บ้านเรา (จะนะ) ฝนก็เลยตกตลอด พอเราบ่นๆ ไป แม่ก็บอกว่า นี่นะฤดูของเค้า ซึ่งมันก็จริงนิ 

ซึ่งเราก็คิดต่อจากที่เคยคิดและทำไปแล้วบางส่วน คือ ฝนตกต่อเนื่อง น้ำมีทางออกแค่ทางเดียว ซึ่งช่องก็เล็กมากแล้ว

น้ำก็จะกลับมาตรงที่นาแถวบ้านเรานะซิ ว่าแล้วมีไรให้ทำต่ออีกแล้ว แต่ยังไงข้อมูลนี้ก็ใช้ได้ดีค่ะ อ่านแล้วเข้าใจ

By raya