ข่าวใหม่วันนี้

แถบข่าววันนี้ (ติดตามสถานการณ์จาก Facebook: Somporn Chuai-Aree)

วิเคราะห์สภาพอากาศภาคใต้ 9-12 ธันวาคม 2554

รูปภาพของ csomporn

 

ประกาศเตือนภัย
"อากาศหนาวเย็นบริเวณประเทศไทยตอนบนและฝนตกหนักคลื่นลมแรงบริเวณภาคใต้ " 
ฉบับที่ 6 ลงวันที่ 09 ธันวาคม 2554

     บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ และจะปกคลุมต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 12 ธันวาคม 2554 ลักษณะเช่นนี้จะ ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลมีอากาศหนาวเย็นลง อุณหภูมิลดลงได้ 4-6 องศา กับมีลมแรง สำหรับพื้นที่ภูเขาสูงจะมีอากาศหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะอุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศา หลายพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากอากาศที่เปลี่ยนแปลงในระยะนี้ 
ในช่วงวันที่ 9-12 ธันวาคม 2554 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ ส่วนอ่าวไทยมีคลื่นลมแรง โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 3-5 เมตร ขอให้ประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเลระวังอันตรายจากคลื่นสูงลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง สำหรับชาวเรือขอให้เดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ด้วย 

ประกาศ ณ วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2554 
ออกประกาศ เวลา 05.30 น. 
สำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา 
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 

 

 

วิเคราะห์สถานการณ์สภาพอากาศภาคใต้

วิเคราะห์จากข้อมูล (http://www.pbwatch.net/WeatherReport.html)

ประจำวันอังคาร ที่ 9 ธันวาคม 2554 เวลา 12.00 น. - 12 ธันวาคม 2554  เวลา 12.00 น.

 

            วิเคราะห์อากาศ

               เนื่องจากความกดอากาศสูงจากประเทศพัดลงมาปกคลุมประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ทำให้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกหนักเป็นบางแห่งโดยเฉพาะพื้นที่ซีกขวามือเทือกเขาไปยังพื้นที่ชายฝั่งทะเล โดยฝนจะเริ่มตกจากทางภาคใต้ตอนบนตั้งแต่พื้นที่ประจวบคีรีขันธ์ตอนล่างลงมายังชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และฝนจะตกลงมาจนถึงพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยจึงต้องระวังอันตรายจากคลื่นลมทะเล ฝนตกหนักบางพื้นที่ตลอดแนวพื้นที่ชายฝั่ง ตลอดถึงแนวหน้าเขา

               วันที่ 9-10 ธันวาคม 2554 พื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ตอนล่าง ลงมาจนถึงจังหวัดสงขลาและตรัง จะมีฝนตกหนักบางพื้นที่  (โดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแนวเทือกเขาจนถึงชายฝั่งทะเลอ่าวไทย)

               วันที่ 10-11 ธันวาคม 2554 พื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่สุราษฏร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช สงขลา ตรัง ปัตตานี นราธิวาส ยะลา สตูล จะมีฝนตกหนักในบางพื้นที่  (ให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ เช่นปัตตานี นราธิวาส และยะลา ส่งผลถึงจังหวัดสตูล)

               วันที่ 12 ธันวาคม 2554 พื้นที่ภาคใต้จะมีฝนลดลง หย่อมความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยและทะเลจีนใต้จะถอยกลับและจะพัดลงมาปกคลุมในระลอกใหม่ต่อไป ให้ท่านติดตามข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง

  • สามารถดูรายละเอียดเมฆเวลา 24 ชั่วโมงย้อนหลังได้จาก http://www.pbwatch.net/Latest/ โดยเลือกแสดงผลวนซ้ำแล้วกดปุ่มเล่น > เพื่อแสดงภาพเคลื่อนไหว
  • พื้นที่ฝนตกไปแล้วสามารถดูได้ที่ http://www.disasterradar.tmd.go.th/stp240pLoop06.html แล้วกดปุ่ม Click Loop> เพื่อแสดงผลพื้นที่ฝนตก สามารถจะใช้เม้าส์ชี้พื้นที่ฝนตกเพื่อดูว่าเป็นพื้นที่อำเภอใด
  • ข้อมูลแสดงพื้นที่ฝนดูได้จาก http://www.pbwatch.net/WeatherReport.html เลือกพื้นที่ฝนตกปัจจุบัน เช่น พื้นที่ฝนตกจากสถานีสงขลา ชุมพร ก็จะเห็นพื้นที่ฝนตกเกือบครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้ คลิกเลือก-ไม่เลือก-เลือก สลับกันเป็นการเรียกภาพพื้นที่ฝนตกล่าสุดออกมา เวลาที่ปรากฏให้บวกเพิ่ม 7 ชั่วโมงจะเป็นเวลาประเทศไทย และข้อมูลภาพจะเปลี่ยนแปลงทุกๆ 30 นาที

 

 

            วิเคราะห์ทะเล

               เนื่องจากความกดอากาศสูงจากประเทศพัดลงมาปกคลุมประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ทำให้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น จะทำให้คลื่นฝั่งอ่าวไทยสูงกว่าฝั่งอันดามัน จากข้อมูลจากโมเดลแวม (WAM Model ดูได้จาก http://www.pbwatch.net/WeatherReport.html เลือกดูความสูงคลื่นในอันดามันและอ่าวไทย) อ่าวไทยมีความสูงคลื่นประมาณ 2-4 เมตร และทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1-2 เมตร

               วันที่ 9-11 ธันวาคม 2554 คลื่นลมทะเลมีความสูง 2-4 เมตร ลดพัดแรง ทำให้เกิดการกัดเซาะบริเวณชายฝั่งเพิ่มมากขึ้น ชาวเรือประมงขนาดเล็กควรงดออกจากฝั่ง และความสูงคลื่นจะลดลงในวันที่ 12 ธันวาคม เข้าสู่ภาวะปกติในหน้ามรสุมต่อไป

  • จากแบบจำลองโมเดลแวม (http://www.pbwatch.net/WeatherReport.html เลือกดูความสูงคลื่นในอันดามันและอ่าวไทย)

 

            ข้อความถึงประชาชนภาคใต้

วันที่ 9-12 ธันวาคม 2554  จะมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ประจวบฯ ตอนล่างถึงพัทลุง ทะเลฝั่งอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร

               -ชาวประมงเรือขนาดเล็ก ควรงดออกจากฝั่ง บริเวณปากร่องน้ำถ้ามีคลื่นลมแรงอาจจะทำให้เรือขนาดเล็กล่มได้

               -ชาวสวนเกษตรกร ชาวสวนยางที่กรีดยางมีความเสี่ยงที่น้ำฝนจะราดน้ำยางได้ทำให้เสียรายได้ ขอให้ใช้ประสบการณ์ในการตัดสินใจ

               - วันที่ 9 ธันวาคม 2554 พื้นที่ 3 จังหวัด ภาคใต้ตอนล่างยังมีท้องฟ้าโปร่ง แดดออกและฝนจะเริ่มมาในช่วง 10-11 ธันวาคม

               - วันที่ 10 ธันวาคม 2554 พื้นที่ภาคใต้ จะได้รับฝนตกกระจายทั่วภาคใต้

               - วันที่ 11 ธันวาคม 2554 พื้นที่ภาคใต้ตอนบนฝนจะเริ่มลดลง

               - วันที่ 12 ธันวาคม 2554 ชาวสวนยางเป็นส่วนใหญ่สามารถจะเริ่มกรีดยางได้ตามปกติ แต่ให้ดูข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาทุกๆ วันเพื่อความรอบคอบ

               - พี่น้องภาคใต้หมั่นดูแลสุขภาพของตัวเองด้วย ด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้ป่วยไข้ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตภายในครอบครัวและองค์กรได้ หมั่นติดตามข่าวสารจากช่องทางต่างๆ อย่างมีสติ

 

            หมายเหตุ

  • การเฝ้าระวังเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ที่ได้จากการอบรมเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติจากหน่วยงานต่างๆ ประกอบกับการสั่งสมประสบการณ์จากภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นเองด้วย การเฝ้าระวังเป็นการทำในระดับตนจนถึงระดับเครือข่าย จึงจำเป็นต้องทำงานกันแบบมีส่วนร่วมโดยการการสื่อสารในช่องทางต่างๆ เป็นเครื่องมือด้วยความตระหนักอย่างมีสติ
  • เนื่องจากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ให้ท่านติดตามการพยากรณ์ในภาพรวมจากกรมอุตุนิยมวิทยา และข่าวทางทีวีและช่องทางอื่นๆ ด้วย และติดตามการวิเคราะห์สถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

            อ้างอิง

               1. ศูนย์อุตุนิยมวิทยาทะเล กรมอุตุนิยมวิทยา ( http://www.marine.tmd.go.th/thai )

               2. ข้อมูลจากภาพเรดาร์ตรวจอากาศ (http://www.disasterradar.tmd.go.th/stp240pLoop06.html)

               3. ข้อมูลจากเว็บไซต์จาก PBWatch.NET (http://www.pbwatch.net/WeatherReport.html)

               4. ข้อมูลความรู้อุตุนิยมวิทยา (http://www.tmd.go.th/info/info.php?FileID=29)

               5. ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออก (http://www.songkhla.tmd.go.th/index1.html)