แถบข่าววันนี้ (ติดตามสถานการณ์จาก Facebook: Somporn Chuai-Aree)
|
สวัสดีปีใหม่ พี่น้องทุกท่านครับ
ผมเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมมาตั้งแต่พายุนอคเตน ตามมาด้วยอีกสอง น. นาลแก น.เนสาด และลูกอื่นๆ จนจำลองน้ำท่วมอุตรดิตถ์ น้ำป่าไหลหลาก น้ำปาด น้ำไผ่ จนน้ำไหลมาพิษณุโลก ช่วยจำลองเบื้องต้นที่พิษณุโลก ไหลลงมา ภาคกลาง อยุธยา กทม. จำลองน้ำท่วม กทม. และรอบนอกหลายๆ ครั้ง จนมาถึงเวลาเฝ้าระวังภาคใต้ต่อ พายุ น้ำท่วม ดินโคลนถล่ม ลงพื้นที่เพื่อให้ได้ข้อมูลรอบด้าน การกัดเซาะชายฝั่ง และอื่นๆ พูดคุยกับพี่น้องเครือข่ายภาคใต้ จนมาถึงคืนนี้นั่งดูว่าชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง จะเป็นอย่างไรกันต่อไป แม้ว่าฝนตกหนักจะซาลงในวันที่ 3 ม.ค. 2555 ประมาณเที่ยงวัน หรือไม่เกินบ่ายสี่โมงเย็น (ถ้าสถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง)
จากแผนเดิมกะว่าจะกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ที่นครศรีธรรมราช วันที่ 31 ธ.ค. 54 แล้วจะกลับมาในวันที่ 1 ม.ค. 55 ซึ่งแผนจะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์น้ำฝนซึ่งตกจากภาคใต้ตอนล่าง ตกไล่ขึ้นไปจนถึงตอนนี้ฝนรออยู่ที่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ฝนตกหนักเพียงคืนเดียวต่อเนื่อง ภาคใต้ก็อ่วมไปด้วยน้ำ ตรงไหนน้ำไหลไม่ทันก็ท่วมนำไปก่อน ตรงไหนเป็นแหล่งต้นน้ำก็เป็นผู้ให้ในการบริจาคน้ำให้กับพื้นที่กลางน้ำและปลายน้ำ ส่วนพื้นที่กลางน้ำก็เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ ส่วนพื้นที่ปลายน้ำจะเป็นผู้รับและปล่อยน้ำลงทะเลให้ไหลกลับไปยังแหล่งต้นกำเนิดน้ำ
เลยมีโอกาสทบทวนสนุกๆ ลองดูว่าถ้าตัวเองอยู่ที่บ้านในช่วงฝนตก เราจะทำอะไร หากตอนเด็กๆ ก็คงเอากัด ตาข่าย แห สุ่ม โพงพาง ไปดักปลาตามสถานที่ที่แตกต่างกันอย่างเหมาะสม กลางคืนก็ไปโหลกปลา หาปลาตามพื้นที่ต่างๆ ตามช่องน้ำ อาจจะมีกบให้จับกบด้วยสุ่ม ตอนเด็กๆ อุดมสมบูรณ์มากๆ ผมออกไปจับกบได้มาเต็มไซ แล้วก็กลับมาไว้ที่บ้าน ผมก็ถือกระสอบออกไปอีกรอบ รู้สึกว่าคืนนั้นผมจับกบไปได้ประมาณ 80 ตัว ในตอนรุ่งเช้าก็ตื่นแต่เช้า ออกไปหาแมงดานากับแม่ ทำให้เรารู้และเข้าใจตำแหน่งของแมงดานาที่เฝ้าอยู่ใต้ผิวน้ำ ทำให้ทำนายได้เลยว่าตัวแมงดานา จะอยู่บริเวณไหน ภูมิปัญญามันเกิดเพราะเราปฏิบัติเอง ทำเอง รู้เอง ชาวบ้านก็ออกไปหาปลา ดักกระบอกจะได้ปลาตัวเล็กๆ เป็นความแปลกใหม่ในการเอารำใส่ในกระบอกไม้ไผ่ที่ปักเอาไว้ ปลาตัวเล็กๆ ไปกินแล้วก็ดีดตัวเข้าไปขังตัวเองอยู่ในถุงที่ถูกเป่าคล้ายๆ ลูกโป่ง ผมทึ่งในภูมิปัญญาของชาวบ้าน ในสมัยนั้นน้ำมามากก็ไม่ได้คิดว่าน้ำมันท่วมเรา แต่เราคิดว่าเป็นวิถีแบบธรรมชาติที่เรารู้ว่าเราจะได้มีโอกาสหาปลากันอีกแล้ว รู้สึกดีใจที่ฝนตกเพื่อว่ารุ่งเช้าจะเดินในนาเพื่อไปหาแมงดานา รู้สึกดีใจที่ฝนตกหนักคืนแรกเพื่อจะไปโหลกปลา ไม่ว่าจะฤดูทำนา หรือเก็บเกี่ยว ก็จะมีวิถีในการใช้ชีวิตแบบนั้น
แต่พอวิถีเราเปลี่ยนไป ตู้เย็นจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตของเรา เข้ามาแทนตู้เย็นธรรมชาติจากที่เราฝากปลาไว้ในสระ ในบ่อ ในทุ่งนา หรือในคูถนนที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของพื้นที่ เราเรียกว่าปลาสาธารณะที่ใครเก่งก็จับเอาเอง แม้จะไม่มีเวทย์มนต์เหมือนพระสังข์ก็ตามแต่เราสามารถจะจับปลาได้ก็ต้องรู้นิสัยของปลาก่อน ว่าไปก็เหมือนกับว่าหากเราจะจับน้ำให้ได้ เราก็ต้องเข้าใจบริบทของน้ำ พอมาปัจจุบันเรามีตลาด เรามีตู้เย็น เราซื้อของจากตลาดมาใส่ตู้เย็น ของฝากในตู้เย็นก็ต้องฝากแล้วก็จ่ายค่าไฟฟ้าด้วยในรอบเดือน ส่วนตู้เย็นธรรมชาติฝากไว้ของที่ฝากก็จะโตขึ้น อยากได้ตอนไหนก็ไปขอชีวิตเค้ามาประกอบอาหาร
น้ำท่วม ประเทศไทยคราวนี้ เราจะเห็นวิถีที่น่าสนใจ คนนอกเมืองจะใช้วิถีอยู่กับน้ำ มองว่าจะมีอะไรมากับน้ำบ้าง ก็ได้ปลาน้ำใหม่ ดักกัดได้ปลา เอาไว้ทำปลาแห้ง ปลาร้า ปลาเค็มกันมากมาย พอน้ำเริ่มลดก็ดักกุ้ง ดักปลาตัวเล็กๆ ได้อีก มีน้ำที่ไหนมีปลา มีชีวิตที่นั่นจริงๆ แต่คนเมืองกลับคิดอีกแบบเพราะห้วงชีวิตมันแตกต่างกันด้วยสภาพแวดล้อม เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจปลาคลัก ลูกปลาในหลุมน้ำที่เริ่มแห้ง วิถีแบบนี้ไม่ใช่หาดูง่ายๆ และไม่ผิดครับที่ไม่รู้จัก เพราะวิถีเหล่านั้นเปลี่ยนไปทำให้เราเห็นว่า มุมมองของคนแตกต่างกัน คราวนี้ พอวิถีทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป พื้นที่ป่าไม้ลดน้อยลง ป่าไม้ซึ่งเป็นฟองน้ำดูดซับน้ำในการชะลอและอุ้มน้ำไว้ไม่ให้น้ำไหลลงสู่กลางน้ำ ปลายน้ำ เร็วจนเกินไป ส่วนหนึ่งก็ดูดขึ้นไปคายออกทางปากใบ สูบน้ำสู่ชั้นบรรยากาศกันต่อไป ทำให้ปลายน้ำไม่ได้รับน้ำท่วมอย่างฉับพลัน พื้นที่ป่าที่มีความหลากหลาย ยึดพื้นที่ได้สบายเพราะรากต้นไม้ที่หลากหลายเหล่านี้จะยึดหน้าดินได้แน่น ซึ่งจะแตกต่างจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่มีพันธุ์เดียวกัน อายุเท่าๆ กัน แน่นอนว่าระดับรากที่ทิ่มลงไปในดินย่อมยาวไม่แตกต่างกันมากนั้น นั่นคือเมื่อน้ำไหลมามีโอกาสที่น้ำจะชะล้างให้ลอกออกเป็นชั้นๆ เป็นการปอกภูเขาออกเป็นชั้นๆ ให้ไหลลงมาจนเกิดปรากฏการณ์ต้นไม้เดินได้ อย่างสวนยางพาราและอื่นๆ
พอเกิดปัญหาขึ้นมา คนเมืองเราก็มองเห็นปัญหาก่อน ว่าชาวบ้านมีปัญหา ที่ส่งผลจากเรามีป่าไม้ลดลง เราก็อยากจะไปช่วยเหลือชาวบ้าน ประกอบกับภัยที่เกิดถี่ขึ้นและหนักขึ้น ภูมิปัญญาเดิมก็เริ่มหดหายและลืมจากกันไป ช่วงน้ำท่วมภาคกลาง ยังเคยคิดกันว่า การแจกข้าวกล่องกับการแจกข้าวสารก็แตกต่างกันแล้ว แจกปลากระป๋องกับแจกแห ตาข่ายดักปลา เบ็ด แจกเรือหรือแจกแพไม้ไผ่ อะไรเหล่านี้ทำให้เราต้องทบทวนว่าเราจะอยู่ร่วมกับธรรมชาติต่อไปด้วยชุดความรู้ ภูมิปัญญาแบบไหน ชุดความรู้แบบไหน แต่ละพื้นที่ ตำบล อำเภอ จังหวัด แต่ละภาคก็มีฐานความรู้ ฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นที่แตกต่างกัน
ท่ามกลางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้เรามองเห็นโลกที่เรายืนอยู่ ทำให้เรามองเห็นหัวเรา จากเมื่อก่อนที่เราไม่รู้ว่าฝนจะมาเมื่อไร ตอนนี้เรารู้คร่าวๆ ว่าฝนจะมาตอนไหน ที่ตกอยู่หนักไหม ออจะตกอีกไม่เกินครึ่งชั่วโมง เรามองเห็นพายุ กำลังเคลื่อนที่ ว่าจะเคลื่อนที่ไปทางไหน ทิศทางใด แม้จะผิดบ้างถูกบ้างแต่ก็ทำให้เรารู้ว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น ความรู้เหล่านี้ ไม่แน่ใจว่าทุกข์หรือสุขสำหรับคนที่รู้ และคนที่ไม่รู้หรือเข้าไม่ถึงข้อมูลจะทุกข์หรือไม่ทุกข์ก็ไม่แน่ใจครับ มีโอกาสไหมที่เราจะทำให้องค์ความรู้เหล่านี้กระจายทั่วสังคมไทย เห็นภูมิปัญญาเทคโนโลยี เห็นหัวตัวเอง เห็นความเป็นไป แล้วนำมาสู่การจัดการชีวิตตัวเอง ครอบครัวตัวเอง ชุมชนตัวเองได้ และลดความสูญเสียทางชีวิตและทรัพย์สิน
สุดท้ายก็อยู่ที่ว่า ใครจะจัดการพื้นที่อย่างไร ด้วยชุดความรู้แบบใด วิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทางธรรมชาติและไม่ธรรมชาติเหล่านี้ เป็นวิกฤตหรือว่าเป็นวิถีชีวิตของคนไทยเรากันแน่? คำตอบไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันน่าจะมีเป้าหมายเดียวกันคือ เราจะอยู่ร่วมกันท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้อย่างไร หากเราตระหนักว่าเราจะเจอกับอะไรที่หนักกว่าที่เคยเป็นอยู่ เราจะอยู่อย่างไรให้พึ่งพาเกื้อกูลกันได้ ทั้งระหว่างชุดความรู้แบบเมือง และชุดความรู้แบบชนบท มองต่างมุมเห็นความงามของมุมต่างๆ หลากหลายมากขึ้น
ประเทศเราพร้อมหรือยังเพื่อจะอยู่ในภาวะท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง หลายครั้งที่เราเรียกหาเครื่องมือว่าเราไม่มีนั่นไม่มีนี่ แล้วคนล่ะ เราเตรียมคนไว้พร้อมแล้วหรือยัง?
ด้วยมิตรภาพครับ
สวัสดีปีใหม่ 2-5555555555555555555555555
สมพร ช่วยอารีย์