ข่าวใหม่วันนี้

แถบข่าววันนี้ (ติดตามสถานการณ์จาก Facebook: Somporn Chuai-Aree)

สถานการณ์พายุโซนร้อนวาชิ วันที่ 18 ธันวาคม 2554 เวลา 13.00 น.

รูปภาพของ csomporn

 

 

Tropical Storm WASHI on 18 Dec 2554 - 13:00
แสดงภาพในสถานการณ์เมื่อ วันที่ 18 ธันวาคม 2554 เวลา 13.00 น.
ในขณะนี้ พายุกำลังจะเคลื่อนตัวเข้าหมู่เกาะสแปรตลี
เส้นสีแดงทางด้านขวามือ คือ เส้นทางพายุที่ผ่านมาแล้ว
แนวโน้มเส้นทางพายุ 7 ทิศทาง ขึ้นกับบริบทของความกดอากาศที่ปกคลุมประเทศไทย เวียดนาม
เส้นทางที่ 1 คือ เคลื่อนตัวเข้าทางเวียดนาม และสลายตัวในประเทศกัมพูชา
เส้นทางที่ 2 คือ เคลื่อนตัวผ่านไปทางแหลมญวนตอนใต้ แล้วเคลือนตัวไปทางอ่าวไทย ขึ้นฝั่งที่ประจวบคีรีขันธ์ หรือชุมพร
เส้นทางที่ 3 คือ เคลื่อนตัวผ่านมาใต้แหลมญวนแล้วเคลื่อนตัวผ่านไปทางจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร
เส้นทางที่ 4 คือ เคลื่อนตัวมาทางใต้ของแหลมญวน ทิศทางปัตตานีแล้วไปทาง อ.สทิงพระ จ.สงขลา
เส้นทางที่ 5 คือ เคลื่อนตัวมาทางใต้ของแหลมญวนและขึ้นฝั่งระหว่าง จ.ปัตตานี และนราธิวาส
เส้นทางที่ 6 คือ เคลื่อนตัวมาทางทะเลจีนใต้ เข้าอ่าวไทย ขึ้นฝั่งที่ประเทศมาเลเซีย
และเส้นทางที่ 7 คือ เคลื่อนที่ลงมาทางทะเลจีนใต้ ลงมาทางประเทศมาเลเซียตอนกลางแล้วสลายตัวบริเวณใกล้ฝั่งมาเลเซีย หรือสิงคโปร์

สถานการณ์ ตอนนี้ จากการคำนวณและการรายงานของหลายแหล่งข่าวมีความน่าจะเป็นในกรณีที่ 7 หรือทิศทางที่ 7 หรือเคลื่อนตัวมาทางประเทศมาเลเซียตอนกลางแล้วสลายตัวบริเวณนั้น และอาจจะทำลายพื้นที่ในหมู่เกาะน้อยใหญ่ทั้งหลาย ในทะเลฝั่งตะวันออกของประเทศมาเลเซีย และประเทศมาเลเซียก็ได้รับผลกระทบจากคลื่นซัดฝั่งและฝนตกหนักได้ และคลื่นเหล่านี้จากพายุก็จะส่งผลไปยังบริเวณชายฝั่งของประเทศไทย ตั้งแต่นราธิวาสไปถึงสุราษฏร์ธานี แต่ความรุนแรงจะน้อยกว่าประเทศมาเลเซีย

และ การเคลื่อนที่ของพายุจะขึ้นกับเส้นความกดอากาศเหล่านี้ที่ปกคลุมไม่ให้พายุเคลื่อนที่ไปตามทางที่ควรไปหรือทางเดินพายุแบบเดิมๆ หรือทางประจำได้สะดวก ประกอบกับพายุเองจะมีอาหารในการช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตเขาก็คือไอน้ำนั่นเอง ดังนั้นโอกาสที่พายุจะสลายตัวในทะเลจึงเป็นไปได้ถ้าความกดอากาศสูงมากดหรือล้อมจนพายุต้องสลาย แต่โดยทั่วไปแล้วจะพบน้อย ดังนั้นให้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง จากข่าวในทีวี อินเทอร์เน็ต กรมอุตุนิยมวิทยา



ภาษาบ้าน ๆ เกี่ยวกับพายุและความกดอากาศสูง

ความสัมพันธ์ระหว่างความกดอากาศสูงกับพายุ ผมจะขอเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้น โดยเปรียบเทียบกับแมวจับหนู ถ้าท่านเคยเห็นแมวจับหนู แมวจะวิ่งๆ ไล่บี้หนูจนหนูอ่อนล้า แมวก็อาจจะหมอบนอนดูหนูและพฤติกรรมหนู ว่าจะหนูจะเคลื่อนที่ไปอย่างไร พอหนูเคลื่อนที่ไป แมวก็อาจจะวิ่งไปตะครุบแล้วตบๆ หนูไม่ให้หนูไปในทางที่จะไปได้ จนกว่าหนูจะตาย ถ้าแมวถอยหนูก็ร่าเริง ถ้าแมวมาไล่บี้หนูก็โดนดันต้องต่อสู้กัน ในที่นี้ หนูก็เปรียบเสมือนพายุ ความกดอากาศสูงก็เสมือนแมว แต่ดูไปแล้วน่าสงสารหนู แต่ในกรณีพายุเรามองว่าพายุทำร้ายคนเรา ดังนั้นพระเอกในบริบทของพายุและการสลายตัวก็คือความกดอากาศสูงนั่นเอง

จากภาพในวีดีโอด้านบน เส้นทางทั้ง 7 เส้นทางยังมีความเป็นไปได้ทั้งหมด เพราะพายุยังมาไม่ถึงและสถานการณ์ความกดอากาศสูงที่แท้จริง เราก็ไม่ทราบว่าจะถอยหรือดันลงมาขนาดไหน ก็อยู่ที่ว่าแมวหรือพระเอกจะลงมาดันไม่ให้ หรือให้พายุไปทางไหนกันแน่ จึงต้องติดตามต่อไป เช่น หากเราบอกว่าทิศทางที่ 7 มีแนวโน้มสูงที่จะมาแต่หากสถานการณ์ของความกดอากาศเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างก็เปลี่ยน หนูก็จะวิ่งไปเส้นทางอื่นได้ หากแมวถอยหนูก็ร่าเริงต่อไป เพราะหนูหรือพายุร่าเริ่งในทะเลสามารถจะมีอาหารคือไอน้ำให้กินอยู่ ดึงไอน้ำมาทำให้ตัวเองลอยได้ต่อไป เพื่อจะนำน้ำเหล่านี้ไปบริจาคให้กับพื้นที่ทางผ่านจนกว่าจะไปขึ้นฝั่งที่ไม่มีอาหารหล่อเลี้ยง เจอภาคพื้นทวีปหรือเจอความแห้งแล้งนั่นเอง พายุจึงจะกลัวความกดอากาศสูง กลัวภาคพื้นทวีป หรือกลัวความแห้งแล้งในที่ที่ไม่มีไอน้ำหล่อเลี้ยงนั่นเอง อย่างทำนองที่หนูกลัวแมวนั่นเอง

การเตรียมความพร้อม หรือการเฝ้าระวังจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญสำหรับมนุษย์เรา พร้อมแต่ไม่เกิดภัยถือว่าเป็นการฝึกซ้อม แต่ไม่เตรียมพร้อมแล้วภัยมา นั่นคือหายนะ (หรือจะอ่านว่า หาย นะ ก็คงไม่ผิด เพราะสิ่งที่เรารักเราหวงจะจากเราไป) คงมีใครมานั่งด่าใครหากพายุจะมาหรือไม่มา เพราะสิ่งเหล่านี้คือการเปลี่ยนแปลง ประกอบกับการทำนายสภาพอากาศในพื้นที่เขตร้อนไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะอากาศแปรปรวนสูง เวลานี้จึงไม่ใช่เวลาแห่งการฟันธง ว่าจะต้องตัดสินใจว่าจะขึ้นทางไหนครับ

มาช่วยกันเฝ้าระวังด้วยกัน อย่างมีสติครับ แล้วเราเตรียมพร้อมกันถึงไหนแล้วครับ? (ต้องถามตัวเอง ไม่ใช่ถามคนอื่น)

ด้วยมิตรภาพครับ


=================================================================

วิเคราะห์แนวโน้มและเส้นทางพายุ 6 ทิศทาง วันที่ 17 ธันวาคม 2554 เวลา 10.00 น. ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

อาจจะมีเพิ่มเติมอีกหนึ่งทิศทางคือพายุอาจจะสลายเสียก่อนบริเวณก่อนขึ้นฝั่งประเทศมาเลเซีย ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยตามบริเวณชายฝั่งตลอดไปจนถึง อ่าวตัว ก. ได้ หากพายุเข้ามาด้วยความเร็วสูงพอ และเส้นทางนี้จะส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อพี่น้องในประเทศมาเลเซียและ ประชาชนที่อยู่อาศัยในหมู่เกาะต่าง ๆ ฝั่งตะวันออกของประเทศมาเลเซีย
ผลกระทบต่อประเทศไทย พื้นที่บริเวณชายฝั่งอาจจะได้รับผลกระทบในพื้นที่ นราธิวาส ปัตตานี สงขลา (โดยเฉพาะสทิงพระและพื้นที่ใกล้เคียง) สุราษฎร์ธานี และอาจจะส่งผลให้ฝนตกหนักในพื้นที่ ประเทศมาเลเซีย นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ระวังดินโคลนถล่มครับ
(ผมจะเข้ามาเติมเต็มให้เรื่อยๆ ครับ ตามเท่าแต่ที่จะพอวิเคราะห์ได้ในเบื้องต้นครับ ยังมีความรู้น้อยไม่ค่อยพอใช้ครับ)

มาดูใจกลางพายุกันนะครับ ว่าเป็นอย่างไรครับ


ภาพเมฆล่าสุดจากญี่ปุ่น

ภาพเมฆล่าสุดจาก MT-SAT, Kochi University, JAPAN

พัฒนาการพายุจากภาพ
คาดการณ์ทิศทางพายุจาก JTWC

คาดการณ์ทิศทางพายุจาก Weather Underground

คาดการณ์ทิศทางพายุจาก Uni-Sys



หมายเหตุ : หมั่นติดตามรายงานสถานการณ์อยู่อย่างต่อเนื่องและมีสติครับ